วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร

วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร ตั้งอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศใต้ ตรงข้ามกับพระราชวังบางปะอิน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๙  เพื่อทรงใช้เป็นสถานที่สำหรับบำเพ็ญพระราชกุศลเมื่อเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับยังพระราชวังบางประอิน ซึ่งทรงโปรดให้สร้างเลียนแบบโบสถ์ฝรั่ง โดยใช้ศิลปะแบบโกธิค (Gothic)โดยเฉพาะพระอุโบสถของวัด ที่เป็นอาคารมีโดมหอคอยปลายแหลมตามอย่างวิหารในสถาปัตยกรรมตะวันตก บริเวณยอดโดมมีหอนาฬิกาและระฆังชุด เหนือขึ้นไปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธนฤมลธรรโมภาสเป็นพระประธาน ซึ่งออกแบบโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ โดยใช้การผสมผสานศิลปะแบบประเพณีนิยมกับศิลปะแบบตะวันตกเข้าด้วยกัน นอกจากนี้บริเวณฐานชุกชีซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระประธานก็มีลักษณะเหมือนที่ตั้งไม้กางเขนในโบสถ์ ช่องหน้าต่างเจาะไว้เป็นหน้าต่างโค้ง และเมื่อหันกลับมองบนฝาผนังด้านหน้าของพระประธาน จะเห็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ ๕ ประดับด้วยกระจกสีที่สั่งเข้ามาจากประเทศอิตาลี มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่งซึ่งหาชมจากที่ใดในเมืองไทยไม่ได้เมื่อพ.ศ. ๒๔๑๙ ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ขยายกำแพงพระราชวังบางปะอินให้พระราชวังมีอาณาเขตกว้างกว่าเดิม ได้มีพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดนิเวศธรรมประวัติขึ้น เพื่อให้เป็นที่บำเพ็ญพระราชกุศลใกล้พระราชวัง ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้เจ้าพนักงานจ้างช่างเหมาช่างชาวตะวันตก ได้แก่ มร.ยูกิงแกรซี มาเป็นผู้กะวางแผนที่ ตลอดจนออกแบบพระอุโบสถและหมู่กุฎิให้มีรูปแบบลักษณะวัดในศิลปะตะวันตก ประวัติที่มาของการสร้างวัดนั้น ปรากฎข้อความบนแผ่นศิลาจารึกประวัติการก่อสร้างที่อยู่ในพระอุโบสถ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ พระศรีสุนทรโวหารจารึก

เรื่องการสร้างวัดบนแผ่นศิลาติดผนังไว้ในพระอุโบสถจำนวน ๒ แผ่น บริเวณฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของประตูทางเข้า ด้านละ ๑ แผ่น มีใจความระบุถึงประวัติความเป็นมาแต่เดิมว่า เคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์สืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีเป็นต้นมา ก่อนสร้างวัดนิเวศธรรมประวัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เนื่องจากทรงมีนิวาสสถานดั้งเดิมอยู่ที่เกาะบางปะอิน เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์โปรดให้สร้างพระราชวังเป็นที่ประพาส อีกทั้งโปรดให้สร้างวัดชุมพลนิกายารามขึ้นที่บริเวณด้านเหนือของพระราชวัง ตั้งแต่นั้นมาพระบรมวงศานุวงศ์ในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาก็ได้เสด็จประพาสที่เกาะบางปะอินนี้ทุกพระองค์ ครั้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดการเสด็จประภาสที่เกาะบางปะอินอยู่เนืองๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระถมดินเพิ่มเติมให้ลึกและกว้างกว่าแต่ก่อน แล้วจึงทรงสร้างพระตำหนักและตึกแถว แนวกำแพงโดยรอบกว้างขวางออกไป และมีพระราชศรัทธาให้สร้างวัดนิเวศธรรมประวัติขึ้นเพื่อเป็นที่บำเพ็ญพระราชกุศลใกล้พระราชวัง โดยได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้เจ้าพนักงานจ้างเหมาช่างตะวันตกให้เป็นผู้ออกแบบแผนผังพระอุโบสถ และถาวรวัตถุภายในวัด เช่นศาลาการเปรียญ หมู่กุฎิ ก่อแท่นซุ้มสำหรับประดิษฐานพระคันธารราษฎ์ โดยมีดำริให้สร้างสถาปัตยกรรมเป็นอย่างตะวันตกทั้งสิ้น

เหตุที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกภายในวัดนั้น ปรากฎหลักฐานในจารึกประกาศพระราชทานที่วัดและเสนาสนะเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสงฆ์ ซึ่งมีความในพระราชดำริตอนหนึ่งในการถวายพระอาราม ดังนี้“… ข้าพเจ้าคิดจะใคร่สร้างเป็นพระอารามน้อยๆ สำหรับที่บำเพ็ญกุศลใกล้พระราชวังในเวลาเมื่อได้มาขึ้นมาพักแรมอยู่ที่เกาะบางปะอินนี้ จึงได้คิดถมดินให้พ้นน้ำตามฤดูที่เคยประมาณว่าเป็นอย่างมากโดยปรกติ แล้วให้เจ้าพนักงานจ้างเหมาช่างชาวตะวันตก กะวางแผนที่ทำตามแบบอย่างกับประเทศตะวันตกทุกสิ่ง ซึ่งได้ให้คิดสร้างโดยแบบอย่างเป็นของชาวต่างประเทศดังนี้ ด้วยมีความประสงค์จะบูชาพระพุทธศาสนาด้วยของแปลกประหลาด แลเพื่อให้อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงชมเล่นเป็่นของแปลก ยังไม่เคยมีในพระอารามอื่น แลเป็นของมั่นคงถาวรสมควรเป็นพระอารามหลวงในหัวเมือง ใช่จะนิยมยินดีเลื่อมใสในลัทธิศาสนาอื่น นอกจากพระพุทธศาสนานั้นหามิได้”การก่อสร้างใช้ระยะเวลาทั้งหมดรวม ๒ ปี ๒๒วัน สำเร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๑และได้โปรดเกล้าให้จัดการฉลองสมโภชครั้งใหญ่ รวม ๔ วัน ๔ คืน และทรงนิมนต์พระอมราภิรักขิตจากสำนักวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม มาเป็นเจ้าอาวาส ภายหลังจากงานต่างๆสิ้นสุดลง เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ปีฉลู นพศก ๑๒๓๙ ตรงกับวันที่ ๖ กันยายน ๒๔๒๑

การเดินทางไปยังวัดนิเวศธรรมประวัติ ราชวรวิหาร

การเดินทางมายังวัดนิเวศธรรมประวัตินั้น สามารถทำได้หลายทาง เช่น การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว ถ้ามาจากกรุงเทพฯ ให้มาตามถนนพหลโยธิน เมื่อถึงประตูน้ำพระอินทร์ ให้ข้ามสะพานวงแหวนรอบนอก หลังจากนั้น ให้เลี้ยวซ้ายบริเวณกิโลเมตรที่ ๓๕ สู่ทางหลวงหมายเลข ๓๐๘ อีกประมาณ ๗ กิโลเมตรก็จะถึงพระราชวังบางปะอิน ให้สังเกตว่าที่จอดรถวัดนิเวศธรรมประวัติจะอยู่ติดกับที่จอดรถของพระราชวังบางปะอิน เมื่อจอดรถแล้วสามารถขึ้นกระเช้าไฟฟ้า ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังวัดนิเวศธรรมประวัติ  การเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง ถ้ามาจากกรุงเทพฯ สถานีขนส่งสายเหนือ นั่งรถสายกรุงเทพฯ-บางปะอิน มาลงที่บขส.บางปะอิน (สุดสาย) จากนั้นนั่งรถสามล้อเครื่องไปลงบริเวณที่จอดรถวัดนิเวศธรรมประวัติ แล้วขึ้นกระเช้าไฟฟ้า ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังวัดนิเวศธรรมประวัติ นอกจากนี้ ยังสามารถเดินทางโดยรถไฟ มาลงที่สถานีรถไฟอำเภอบางปะอิน หรือเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง มาลงที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วต่อรถโดยสารไปลงบริเวณที่จอดรถวัดนิเวศธรรมประวัติแล้วสามารถขึ้นกระเช้าไฟฟ้า ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปยังวัดนิเวศธรรมประวัติ

พระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ

พระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติ สร้างอยู่ในกำแพงแก้ว ก่ออิฐถือปูนทำเป็นลวดลายแบบตะวันตก เหนือกำแพงมีเสมาสลักจากหินปักอยู่ เสมามีรูปแบบหัวเม็ดทรงมัณฑ์ ตรงมุมทั้ง ๔ สลักเป็นรูปเศียรนาค ตรงกลางสลักลายธรรมจักร ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้รับการคิดประดิษฐ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระอุโบสถเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มียอดโดมปลายแหลมเหมือนโบสถ์ในคริสต์ศาสนา ภายในพระอุโบสถมีเพดานและช่องหน้าต่างสูง มีซุ้มยอดแหลมเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธนฤมลธรรโมภาส” พระประธานซึ่งเป็นพระปฏิมากรประทับนั่งขัดสมาธิเพชร และพระอรหันต์สาวก คือ พระโมคคัลลานะอยู่ทางซ้าย และพระสารีบุตรอยู่ทางขวา เบื้องหน้าเป็นที่ประดิษฐานพระนิรันตราย บานประตูหน้าต่างประดับด้วยกระจกสลับสี ที่ผนังอุโบสถทั้งสองข้างประตูทางเข้ามีจารึกประวัติการสร้างวัดและพระพุทธปฏิมากรเหนือประตูพระอุโบสถมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องต้นทำด้วยกระจกสีงดงาม ด้านหน้าบริเวณทางเข้าพระอุโบสถมีมุขยื่นออกมา ลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหน้าจั่วซ้อนกัน ๒ ชั้น รอบผนังพระอุโบสถเจาะช่องหน้าต่างเป็นรูปโค้งปลายแหลมทุกด้านของอาคาร บริเวณท้ายพระอุโบสถเป็นหอระฆังยอดโดมลักษณะรูปกรวยแหลมสูงขึ้นไป ๓ ชั้น แต่ละชั้นนั้นเจาะช่องหน้าต่างเป็นอาร์คแบบโค้งปลายแหลมไว้รอบหอระฆัง ชั้นแรกมีการเจาะช่องหน้าต่างทั้งสี่ด้าน และวางยอดปราสาทจำลองประดับไว้ที่มุมทั้งสี่ด้าน ถัดขึ้นไปชั้นที่ ๒ และชั้นที่ ๓ เจาะช่องหน้าต่างและประดับด้วยกระจกสี ๘ ด้าน บนสุดของยอดทำเป็นโดมปลายแหลม บนหอระฆังมีเจดีย์สำริดปิดทองภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตรงผนังเบื้องล่างยอดโดมประดับด้วยนาฬิกา บอกเวลาเป็นเลขโรมัน

พระพุทธนฤมลธรรโมภาศ

พระพุทธนฤมลธรรโมภาศ เป็นพระปฏิมากรนั่งสมาธิเพชร หน้าตักกว้าง ๒๒ นิ้วกึ่ง สูงตลอดรัศมี ๓๖ นิ่งกึ่ง หล่อกะไหล่ทองแล้วเสร็จเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๙ ค่ำ จุลศักราช ๑๓๒๙ ตรงกับวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๐ รัชกาลที่ ๕ พระราชทานให้เป็นพระประธานในพระอุโบสถประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว พระพุทธรูปองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ผู้ทรงสร้างวัดนี้ โปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ (หม่อมเจ้าดิศดวงจักร ในกรมหมื่นณรงค์หริรักษ์) ซึ่งทรงพระเกียรติคุณว่าเป็นช่างอย่างวิเศษมาแต่รัชกาลที่ ๔ ทรงเคยสร้างพระพุทธรูปต่างๆ มาจนนับองค์ไม่ถ้วน ให้ทรงออกแบบปั้นหุ่นและหล่อขึ้น นับว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก โปรดว่างดงามหาที่ตำหนิมิได้ ต่อมาภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จะให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ สร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่อีกองค์หนึ่งให้มีขนาดเท่ากัน กับมีพระราชดำรัสกำชับว่าขอให้งามเหมือนพระพุทธนฤมลธรรโมภาศ แต่ก็เป็นที่สุดวิสัย มิได้ดังพระราชประสงค์ด้วยพระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการได้กราบบังคมทูลว่า ทำสุดฝีมืออยู่ที่พระพุทธนฤมลธรรโมภาศเสียแล้ว พระพุทธรูปองค์นี้จึงจัดว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามอย่างเอกอุในบรรดาฝีมือของพระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ

เทวรูปปัญจสิงขรและเทวรูปพระอินทร์

ประดิษฐานอยู่ที่ซุ้มแบบโกธิกติดกับประตูทางเข้าพระอุโบสถ เทวรูปปปัญจสิงขรถือพิณอยู่ที่ซุ้มตะวันตกและเทวรูปพระอินทร์เป่าสังข์อยู่ที่ซุ้มตะวันออก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างปั้นขึ้นเพื่อเลียนแบบนักบุญในศาสนาคริสต์ เดิมเป็นรูปปูนปั้นแต่ต่อมาชำรุดแตกหัก จึงโปรดให้สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้รับสั่งจัดการหล่อขึ้นใหม่ด้วยทองคำสำริดปิดทองคำเปลว และนำไปประดิษฐานแทนองค์เดิม

หอพระไตรปิฎก

หอพระไตรปิฎกเป็นอาคารทรงจัตุรมุขสองชั้น ขนาด ๗.๔๐ x ๗.๔๐ เมตร ก่ออิฐสอปูน ชั้นล่างเป็นพื้นปูกระเบื้องหินอ่อนสีเทา หลังคาเป็นโครงไม้มุงด้วยกระเบื้องจีน เป็นหอเก็บพระคัมภีร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างรวม 119 คัมภีร์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๒๑ หอไตรปิฎกแห่งนี้มีความงามตามแบบศิลปะโกธิกที่นิยมในสมัยกลางที่ประเทศอังกฤษ ภายในเป็นตู้พระไตรปิฎกหกเหลี่ยมบรรจุพระคัมภีร์ทั้งสิ้น

พระตำหนักสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

พระตำหนักเป็นอาคารสองชั้น ก่ออิฐสอปูน พื้นไม้กระดานทั้งสองชั้น หลังคาโครงไม้มุงด้วยกระเบื้องลอน หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล พระธิดาของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า ” เมื่อครั้งเสด็จพ่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ได้เสด็จไปจำนำพรรษาอยู่ที่วัดนิเวศฯ เพราะในขณะที่วัดนี้กำลังก่อสร้าง เสด็จพ่อทรงเป็นราชองครักษ์ตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปทอดพระเนตรการก่อสร้างทุกวัน สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสว่า …วัดนี้เงีบยสบาย เจ้านายผนวชก็อยู่ได้… เสด็จพ่อจึงทูลรับว่า ถ้าถึงปีทรงผนวชจะเสด็จมาอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกตำหนักถวายหลังหนึ่ง”สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงผนวชและจำพรรษาที่วัดนี้ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๖ เพื่อสนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะให้เจ้านายประจำพรรษาที่วัดนี้บ้าง พระอาจารย์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คือ พระอมราภิรักขิต เจ้าอาวาสวัดนิเวศธรรมประวัติรูปแรก ในระหว่างที่ทรงจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ได้ทรงตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น และได้ทรงพระราชนิพนธ์ตำราเรียน “แบบเรียนเร็ว เล่ม ๑” เพื่อใช้สอนนักเรียนที่โรงเรียนของวัดนี้เป็นครั้งแรก

พระขอฝน

ด้วยพุทธลักษณะปางทรงยืน พระหัตถ์ขวายกขึ้นแสดงอาการกวักทำนองขอฝน พระหัตถ์ซ้ายทรงยกขึ้นเสมอสะเอวดูราวคล้ายกับรองรับน้ำฝน เล่ากันว่าพระปางนี้แรกสร้างในเมืองคันธาระ ประเทศอินเดีย ราว พ.ศ.๔๐๐ จึงเรียกพระนามอีกอย่างว่า พระคันธาระ หรือพระคันธารราษฎร์ พระขอฝนนี้ กำหนดสร้างขึ้นเป็นปางหนึ่งของพระพุทธเจ้า โดยกล่าวตามตำนานว่า สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเชตวันวิหาร ในเมืองสาวัตถี ครั้งหนึ่งได้เกิดฝนแล้งอย่างมาก ผู้คนอดอยากขาดน้ำใช้สอยและบริโภค สระใหญ่ๆ ทุกสระแห้งขอดไปหมด ผู้คนเดือดร้อนในการหาน้ำกินน้ำใช้ พระองค์จึงตรัสเรียกพระอานนท์ให้นำผ้าชุบสรงมาถวาย ทรงเอาชายข้างหนึ่งตวัดพาดพระอังสะ (บ่า) ยกพระหัตถ์ขวาเรียกน้ำฝน ส่วนพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นรองรับ ทันใดนั้นฝนก็ตั้งเค้าและตกลงมาเป็นอันมาก ผู้คนและสัตว์ทั้งหลายได้พึ่งบารมีรอดตายจากอดน้ำมีสุขสืบมา


image
image
image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 1,012,048