วัดสุวรรณดาราราม

ประวัติ

เป็นพระอารามของต้นราชวงศ์จักรี เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร มีประวัติในหนังสือประวัติวัดสุวรรณดารารามรวบรวมและเรียบเรียงโดยขุนศารทประภาศึกษากร พิมพ์ที่โรงพิมพ์การศาสนา ไม่ปรากฏศักราชที่พิมพ์มีข้อความดังนี้

        "วัดนี้เป็นวัดที่มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก ตอนใต้เหนือบริเวณป้อมเพชร โดยสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกแห่งพระบรมราชวงศ์จักรี พระนามเดิมว่า "ทองดี" มีอัครชายาว่า "ดาวเรือง" รับราชการเป็นเสมียนตรามหาดไทยในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นออกพระอักษรสุนทรศาสตร์ มีนิวาสสถานอยู่เหนือป้อมเพชร นายทองดีสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) คือ บุตรเจ้าพระยาโกษามีชื่อว่าทองคำ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระราชนิกูล พระราชนิกูลมีบุตรชื่อทองดี และท่านผู้นี้เป็นพระบรมมหาชนกของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นผู้ทรงสร้างวัดนี้ และให้ชื่อว่า "วัดทอง" (ในราวแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ต่อพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) วัดนี้จึงจัดเป็นวัดของต้นบรมราชวงศ์จักรีทางฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  คู่กับวัดอัมพวันเจติยาราม แขวงบางช้าง อำเภออัมพวัน จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี (นาค) พระชนนีของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสร้างขึ้น

 สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) พระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระผู้ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีนี้ มีพระประวัติกล่าวต่อไปอีกว่า อันพระบุรุษบูรพชนของท่านซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาปานนั้น ท่านเจ้าพระยาโกษาปานนี้เป็นบุตรของหม่อมเจ้าหญิงอำไพ ราชธิดาของสมเด็จพระเอกาทศรถ พระราชอนุชาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัย และหม่อมเจ้าหญิงอำไพผู้นี้ในพงศาวดารมักจะรู้จักกันในนามเจ้าแม่วัดดุสิต พระนมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ส่วนฝ่ายข้างบิดาของเจ้าพระยาโกษาปานนั้นเล่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ได้ ทรงเล่าให้ฟังว่ามีเชื้อสายสืบมาแต่ทหารมอญ ซึ่งได้ละทิ้งการอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของพม่า ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมา แต่เมื่อคราวสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับจากถูกนำพระองค์ไปเป็นองค์จำนำ และเมื่อคราวกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) มีบรรดาศักดิ์เป็นที่ออกพระสุนทรศาสตร์หรือพระอักษรสุนทร ท่านหาได้อยู่ในกรุงไม่ หากแต่ท่านได้ไปรับราชการอยู่ที่เมืองพิษณุโลก แต่ตอนก่อนกรุงแตก ครั้นเมื่อกรุงแตกแล้วได้มีคนไทยผู้รักชาติตั้งก๊กต่างๆ เพื่อทำการกู้ชาติขึ้น ๕ ก๊ก และเจ้าพระยาพิษณุโลก ก็ได้เป็นหัวหน้าก๊กๆ หนึ่งด้วย ท่านเจ้าพระยาพิษณุโลกก็ได้แต่งตั้งพระอักษรสุนทร (ทองดี) ขึ้นเป็นที่ "เจ้าพระยาจักรี" ในรัฐบาลของท่านด้วย

       ส่วนอรรคชายาของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (ทองดี) นั้น นอกจากบางตำราว่าท่านชื่อ "ดาวเรือง" เช่น ตำราเรื่องราชนิกูลรัชกาลที่ ๕ พระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธวงศ์วรเดช ก็ชื่อว่า "ดาวเรือง" เหมือนกันนั้น แต่จากพระนิพนธ์ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ในหนังสือ ชื่อก็มีบางตำรากล่าวว่าชื่อ "หยก" เหมือนกัน โดยพระองค์ท่านทรงอ้างถึงหลักฐานจากหนังสือ ซึ่งท่านเซอร์จอห์นบาวริง อ้างว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเล่าให้ฟังเป็นภาษาอังกฤษว่าชื่อ "หยก" และเป็นธิดามหาเศรษฐีชาวจีนแห่งกรุงศรีอยุธยา นี่ก็อีกตำราหนึ่ง จึงเป็นการสมควรจะได้นำมากล่าวไว้ในที่นี้ด้วย"

       ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกได้เอาไฟเผาพระราชวัง วัดวาอารามต่างๆ ตลอดจนบ้านเรือนภายในกำแพงเมืองเสียหายย่อยยับ กวาดต้อนเจ้านายและราษฎร เก็บทรัพย์สินไปจนหมดสิ้น เพื่อมิให้ชาติไทยตั้งหลักฐานได้ต่อไป ข้าราชการ ผู้ใหญ่ ผู้น้อย ราษฎร ต่างหลบหนีเข้าดงป่าลี้ภัยพม่าและพม่ายังได้ตั้งค่ายกวาดต้อนผู้คนเก็บทรัพย์สินอยู่ที่ตำบลโพธิ์สามต้น อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับตั้งแต่นั้นมากรุงศรีอยุธยาก็เป็นป่ารกร้างถูกรื้อทำลายขุดค้นหาทรัพย์สินภายในกำแพงเมืองพระนครศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรีถึงกับประมูลผูกขาดขุดค้นทรัพย์และรื้อทำลายเอาอิฐไปสร้างกรุงธนบุรีและกรุงเทพฯ วัดทองนี้ก็ได้ถูกรื้อทำลายไปเช่นเดียวกัน ปล่อยรกร้างมาประมาณ ๑๘ - ๑๙ ปี

         ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้เสวยราชสมบัติและสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งถึงปี พ.ศ. ๒๓๒๘ จึงโปรดให้จัดการปฏิสังขรณ์วัดทอง ที่พระปฐมบรมมหาชนกทรงสร้างไว้แต่เดิมเสียใหม่หมดทั้งพระอาราม เพราะของเดิมได้ถูกไฟเผา และรื้อทำลายไปหมด การปฏิสังขรณ์นี้เท่ากับการสร้างใหม่ คือ สร้างพระอุโบสถ สร้างพระเจดีย์และหมู่กฏิ การปฏิสังขรณ์วัดนี้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้า) ได้ทรงเข้าร่วมปฏิสังขรณ์ด้วยพร้อมทั้งยกนิวาสสถานเดิม ซึ่งตั้งอยู่หลังป้อมเพชรให้เป็นขอบเขตของวัดและให้ขุดคลองผ่านกำแพงเมืองจากหน้าวัดทางแม่น้ำป่าสัก เข้ามาถึงหน้าพระอุโบสถ (คลองนี้ไม่ใช้คลองเก่าสมัยกรุงศรีอยุธยา) เพื่อความสะดวกแก่พระภิกษุสามเณรได้ใช้น้ำในการอุปโภคและบริโภครวมทั้งเพื่อความสะดวกในการคมนาคมโดยทางเรือ  ภายในพระอุโบสถโปรดให้ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยเขียนเป็นภาพเทพชุมนุมที่ตอนบนของผนัง ส่วนตอนล่างเขียนเป็นภาพทศชาติชาดกไว้โดยรอบผนังภายในอาคาร ทางด้านหน้าเขียนภาพปางมารวิชัยขนาดใหญ่ มีพระแม่ธรณีบีบมวยผมยืนอยู่ตรงกลาง และโปรดให้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น "วัดสุวรรณดาราราม" โปรดให้มีพระสงฆ์มาจำพรรษาที่วัดนี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๘ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๘ ปี ก็สวรรคต

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้ทรงสร้างศาลาการเปรียญเป็นศาลาดิน ก่ออิฐถือปูนเพิ่มเติมขึ้นอีก ๑ หลัง แต่ยังไม่แล้วเสร็จ ก็สิ้นรัชกาลที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ ทรงอยู่ในราชสมบัติ ๑๖ ปี ในรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๙๓ ได้ทรงสร้างศาลาการเปรียญต่อสำเร็จ และซ่อมภาพเขียนในพระอุโบสถซึ่งชำรุดให้บริบูรณ์ต่อไป สิ้นรัชกาลนี้ในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ทรงอยู่ในราชสมบัติ ๒๘ ปี ในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ และในปี พ.ศ.๒๔๐๖ ได้ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่ ทรงสร้างพระวิหารขึ้นอีกหนึ่งหลัง ทรงโปรดให้ช่างจำลองพระแก้วมรกตทำด้วยศิลาไปประดิษฐานไว้ในพระวิหาร และทรงสร้างกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนล้อมอยู่โดยรอบเป็นสัดส่วน สร้างกำแพงชั้นนอก มีประตูทางเข้า-ออก ทำไว้เป็นระยะๆ ด้านหน้า ๒ ประตู ด้านหลัง ๑ ประตู ด้านเหนือ ด้านใต้ ด้านละ ๑ ประตู ประดับลวดลายตรงกลางซุ้มประตู ด้านบนเป็นรูปมหามงกุฎประดิษฐานอยู่ รูปมหามงกุฎนี้เป็นตราเครื่องหมายในรัชกาลนี้ ทำประตูทั้ง ๔ ด้าน ภายในทรงโปรดให้เขียนภาพเทพชุมนุมส่วนบนของผนัง ส่วนชั้นล่างเขียนภาพสมเด็จพระนเรศวรทรงกอบกู้อิสรภาพและภาพการรบต่างๆ ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวร นอกจากนี้ยังได้สร้างโรงครัว ๑ หลัง และขุดคลองเข้าวัดทางทิศตะวันตกต่อจากคลองในไก่เข้าถึงหมู่กุฏิในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ ตรงกับปี ร.ศ.๑๑๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หมู่กุฏิทั่วทั้งพระอาราม สิ้นรัชกาลในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ อยู่ในราชสมบัติ ๔๒ปี ในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ เปลี่ยนกระเบื้องเคลือบ ซ่อมภาพในพระอุโบสถ สร้างถังน้ำเพื่อให้ความสะดวกแก่พระภิกษุ สามเณร สิ้นรัชกาลในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ อยู่ในราชสมบัติ ๑๖ ปี

  ในรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ต่ออยู่ในราชสมบัติ ๙ ปี จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๗ ในรัชกาลที่ ๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลฯ ได้เสวยราชสมบัติในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ พระองค์มีพระชนม์มายุเพียง ๙ พรรษาเท่านั้น ในรัชสมัยของพระองค์ประเทศไทยได้ก้าวไกลไปมาก มีการสร้างถนน สร้างทางรถไฟหลายสาย บำรุงกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และได้มีอุปสรรคสำคัญโดยการเกิดสงครามโลก และสงครามฝรั่งเศส สิ้นรัชกาลในปี พ.ศ. ๒๔๙๘  อยู่ในราชสมบัติ ๑๒ ปี

          การปฏิสังขรณ์ของเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้บูรณะปฏิสังขรณ์อะไรบ้าง มาปรากฏหลักฐานในสมัยพระสุวรรณวิมลศีล (ดิษ) เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ตรงกับปี ร.ศ. ๑๒๓ ได้ขุดลอกคลองเดิมที่รัชกาลที่ ๔ ได้ขุดไว้ทางทิศตะวันตกต่อจากคลองในไก่เข้ามาถึงศาลาการเปรียญ ขยายให้กว้างขึ้นอีก เพื่อให้ใช้ได้ทุกฤดู และได้สร้างกุฏิ ๒ ชั้น ทรงปั้นหยา ๑ หลัง ต่อมาสมัยพระสุวรรณวิมลศีล (ลับ) ได้ซ่อมตึกหลังเก่าขยายให้ใหญ่โตขึ้นกว่าของเดิม มีมุขด้านหน้าทำเป็น ๒ ชั้น ใช้เป็นสถานการศึกษาปริยัติธรรม กับทำถนนเข้าวัดทางด้านทิศใต้ต่อจากถนนอู่ทองมาถึงศาลาการเปรียญ สมัยพระศรีสุธรรมมุนี ได้ทำถนนภายในวัด ปฏิสังขรณ์กุฏิ และต่อเติมระเบียงด้านหน้า-หลังศาลาการเปรียญทั้ง ๒ ด้าน ทางราชการได้ย้ายโรงเรียนภาษาไทย ซึ่งเดิมเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปอยู่ในโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จึงย้ายโรงเรียนปริยัติธรรมไปอยู่ ณ ศาลาการเปรียญตึกหลังที่ปรับปรุงเป็นที่อยู่ของท่าน

จิตรกรรมฝาผนัง

 ภายในวัดมีจิตรกรรมฝาผนังรูปยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต้นฉบับที่เคยเห็นกันในหนังสือเรียน วาดโดยพระยาอนุศาสน์จิตรกร จิตรกรเอกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ด้านบนของผนังภายในพระอุโบสถรายล้อมไปด้วยภาพเทพพนมนับร้อยองค์ลอยอยู่ในวิมาน ที่มีขนาดลดหลั่นกันตามระยะใกล้-ไกล ตามลักษณะของทัศนียภาพแบบตะวันตก ที่เคยมีการวาดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ส่วนด้านล่างของผนังเป็นภาพเรื่องราวของมหาเวสสันดรชาดกและสุวรรณสามชาดก

 

 

 


image
image
image
image
image
 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 1,012,048